ความทรงจำเกี่ยวกับพ่อหลวง

วันนี้คือวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งในทุกๆ ปีเราจะได้สุรเสียงของพ่อ แต่ปีนี้แตกต่างจากทุกๆปี ตรงที่วันที่ 5 ธันวา ปีนี้พ่อไม่ได้อยู่กับเราแล้ว ในช่วงหลายสัปดาห์มานี้หลังจากที่ทราบข่าวการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาติ ผมเองก็แทบจะทำอะไรไม่ได้ แม้ว่าผมจะสะกดความรู้สึกของตัวเองไม่ให้ร้องให้ บอกกับตัวเองว่าต้องเข้มแข็ง และชีวิตของเราต้องเดินหน้าต่อไป แต่ผมก็ไม่สามารถนั่งดูโทรทัศน์ได้เป็นเวลานานๆ เพราะความรู้สึกเสียใจ และ อาลัย มันจะกลับมาหาผมทุกครั้ง
ผมจึงขอเขียนบทความสั้นๆเกี่ยวกับความทรงจำของผมเองที่มีต่อพ่อหลวง แม้ว่าความทรงจำนี้จะเลือนลางเต็มที แต่ก็ดีกว่าให้ประวัติศาสตร์ความรู้สึกที่ดีของคนไทยคนหนึ่งที่มีต่อพระมหากษัตริย์จะเลือนหายไป เพราะท่านได้สร้างคุณูประการอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ให้กับคนไทยทั้งชาติ ไม่เฉพาะต่อครอบครัวของกระผมเอง ผมจึงอยากบอกว่าหลายครอบครอบครัวในจังหวัดเชียงราย เรามีอยู่มีกินจนถึงวันนี้ได้ก็เพราะ เรามีกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ สำหรับผมเองนั้นผมลืมตามาดูโลกวันแรก ผมก็มีกษัตริย์ที่มีชืื่อว่าองค์ ภูมิพล อดุลยเดช และกว่า 50ปี ที่ท่านได้อยู่ในใจของผม และ ท่านก็จะอยู่กับผมแบบนี้ตลอดไป 

ในอดีตนั้นผมจำได้ว่าจังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่ห่างไกลความเจริญมาก การไปมาหาสู่ทำได้ยากลำบากมาก ความเจริญจากส่วนกลางในสมัยนั้นจะมาสิ้นสุดที่ จ. ลำปาง หรือ จ.เชียงใหม่เท่านั้น จ.เชียงรายมีคนยากจนมากมาย และยังเป็นจังหวัดที่ประกอบด้วยพื้นที่ราบสูงชาวเขาเยอะมาก ในขณะนั้น จ.พะเยา ยังเป็นเพียงแค่ อำเภอหนึ่งของ จ.เชียงราย  เนื่องจากครอบครัวผมเองมีร้านค้าในตลาดสดเชียงราย เราได้เห็นพวกชาวเขา หอบลูก หอบหลานมาซื้อข้างของในตลาดสดเชียงรายมากมาย พวกเขายากจนมากพูดภาษาไทยก็ไม่ค่อยจะชัด ภาพนี้เป็นภาพที่ชินตา บางคนมีที่สูบยาเส้นทำด้วยเงินยาวประมาณหนึ่งฟุต ติดมาในกระเป๋าด้วย 

ในช่วงนั้น (ราวๆ พศ. 2514-2522) ในหลายพื้นที่ของ จ. เชียงราย มีการปลูกพืชผิดกฎหมาย และไร่เลื่อนลอยเป็นจำนวนมาก และนอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่สีแดงโดยไล่จาก อ.เชียงของ อ.เทิง อ.เชียงคำ อ.จุน อ.ปง  อ.เชียงม่วน ยันไปถึงเขต จ.น่าน ล้วนแต่มีอันตราย ผมจำได้ว่าผมเคยไปนอนที่บ้านของคุณลุงของผมที่ อ.เชียงคำ ซึ่งอยู่ในตัวตลาดเลย เช้าๆ จะมีชาวบ้านมาซื้อข้าวของเยอะแยะไปหมด แต่ละคนก็จะสะพายปืนยาวมาด้วย ซึ่งเป็นภาพที่ปกติมากในสมัยนั้น บ้านผมเองจะอยู่บนถนนสันโค้งน้อย ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงพยายาบาล จ. เชียงราย เรามักจะเห็น เฮลิคอปเตอร์ ของทหารนำผู้บาดเจ็บจากสงครามมาลงที่โรงเรียนบ้านสันโค้งข้างบ้านเราเป็นประจำ จนเป็นภาพที่ชินตา

สำหรับคนพื้นราบเองก็ใช่ว่าจะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีมากนัก ครอบครัวใหนมีลูกสาวก็มักจะถูกส่งเข้ามาทำงานในเมืองหลวงซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าเข้ามาทำอะไร จ.เชียงรายในช่วงเลานั้นไม่มีอะไรน่าสนใจเลยครับนอกจากคนจน แม้กระทั่งครอบครัวของผมเอง คุณพ่อ และ คุณแม่เอง ก็ไม่ได้ร่ำรวย วันหนึ่งแม่ของผมเล่าว่า พระเจ้าผ่นดินจะเสด็จ โดย เฮลิคอปเตอร์ พระที่นั่ง มาลงที่ โรงเรียนบ้านสันโค้ง (ซึ่งในเวลานั้นผมเองได้ไปเรียนหนังสือที่ จ. ลำปาง) ผมทราบจากแม่ และ น้องสาวของผมว่าครอบครัวของผมไปรอรับเสด็จที่ โรงเรียนสันโค้งตั้งแต่เช้า เพียงเพื่อขอให้ได้เห็นพระพักต์ที่แท้จริงของพระองค์ เพียงเท่านั้นพวกเราก็ถือว่าเป็นบุญอันใหญ่หลวงแล้ว ซึ่งนั่นคือความรู้สึกของคนบ้านนอกในสมัยนั้นจริงๆ ซึ่งพวกเรามักจะไถ่ถามกันเองเสมอว่า เคยเห็นตัวจริงของพระองค์ท่านบ้างหรือยัง ใครที่เคยได้เห็นก็ถือว่ามีบุญ

ภาพจาก : โครงการหลวงห้วยแล้ง


จวบจนกระทั่งปี 2530 ความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนเริ่มมาเยือนจังหวัดเชียงราย เมื่อโครงการหลวงดอยตุงได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2531 ซึ่งหลังจากนั้น จังหวัดเชียงรายก็เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างอย่างชัดเจน และรวดเร็ว ซึ่งโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปี ทรงสัมผัสความทุกข์ยากของชาวบ้านบนดอยตุงซึ่งมีชีวิตอยู่ในวังวนของการปลูกและค้ายาเสพติด อีกทั้งวงจรการค้ามนุษย์ซึ่งกลายเป็นปัญหาสังคมอย่างไม่จบสิ้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเล็งเห็นถึงต้นเหตุแห่งปัญหาว่าเกิดจากความยากจน ความไม่รู้ และการขาดโอกาสในชีวิตของผู้คนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร จึงทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่ต้องหยุดวงจรแห่งความทุกข์ยาก โดยพัฒนาคนอย่างมีบูรณาการ ควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสร้างสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ไปในเวลาเดียวกัน โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ชุมชนดอยตุงสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างมีคุณภาพต่อเนื่อง โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2531 บนพื้นที่ดำเนินงาน 93,615 ไร่ ในเขตอำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ครอบคลุม 29 หมู่บ้านของชนเผ่าอาข่า ลาหู่ จีนก๊กมินตั๋ง ไทใหญ่ ไทลื้อ และไทลัวะ ประมาณ 11,000 คน [1]

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น นำพามาซึ่งความเจริญทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงรายก็กลายเป็นที่รู้จักของผู้คนเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งไม่เพียงแต่โครงการหลวงดอยตุงที่เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ แต่ยังมีโครงการหลวงอีกหลายโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่กระจายตัวอยู่ทัั่วจังหวัดเชียงราย เช่น


  1. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน
  2. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น
  3. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง
  4. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ 
  5. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง
  6. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง
ซึ่งนอกจากโครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างอาชีพที่มั่นคงให้ กับราษฎรในพื้นที่เป็นการเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวแล้ว ทุกโครงการก็ถูกพัฒนาให้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติด้วย ซึ่งท่านที่มาเที่ยวจังหวัดเชียงราย สามารถติดต่อที่พัก กับสำนักงานของโครงการหลวงแต่ละแห่ง ผ่าน ศุนย์การเรียนรู้นอกตำราผ่านการท่องเที่ยวโครงการหลวง

แม้ว่าในวันนี้เราจะไม่มีพ่อ แล้วแต่ท่านก็ได้ให้ทั้งแนวคิดในการดำเนินชีวิต และ โครงการดีๆ แก่พวกเราทุกคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะอยู่กับพวกเราตลอดไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาครัวล้านนา

เข้าใจวัฒนธรรมอาหารล้านนา

แอ่วกาดหลวง